คำนมัสการคุณานุคุณ
๑.ความเป็นมา
คำนมัสการคุณานุคุณที่คัดมาให้ศึกษามีเนื้อหาแบ่งออกเป็น ๕ ตอน แต่ละตอนมีที่มาจากคาถาภาษาบาลี ดังนี้
คำนมัสการพระพุทธคุณ : อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ
(พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ข้าพเจ้าขออภิวาทพระผู้มีพระภาคพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน)
คำนมัสการพระธรรมคุณ :สวาก ขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมังนะมัสสามิ
(พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว ข้าพเจ้าขอนมัสการพระธรรม)
คำนมัสการพระสังฆคุณ : สุปะฏิปปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ
(พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว ช้าพเข้านอบน้อมพระสงฆ์)
คำนมัสการมาตาปิตุคุณ : มาตาปิตุคุณ อะนันตะคุณะ สัมปันนา ชะเนติชะนากา อุโภ มัยหัง มาตา ปิตูนังวะ ปาทา วันทามิ สาทะรัง
(มารดาทั้งสองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณอันหาที่สุดมิได้ ข้าพเจ้าขอไหว่เท้าทั้งสองของมารดาบิดาของข้าพเจ้าด้วยความเคารพอย่างสูง)
คำนมัสการพระอาจริยคุณ : ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา ปัญญาวุฒิกเรเตเต ทินโนวาเท นมามิหัง
(ครูอาจารย์ผู้ใหญ่และผู้น้อยทั้งหลายล้วนเป็นผู้มีพระคุณอันประเสริฐยิ่ง ได้อบรมสั่งสอนให้ศิษย์มีวิชาความรู้ ได้ให้โอวาทตักเตือนด้วยเมตตาธรรม ข้าพเจ้าขอกราบไว้คุณครูอาจารย์เหล่านั้นด้วยความเคารพ)
พระยาศรีสุนทรโวหารได้นำคาถาภาษาบาลีมาแปลและเรียบเรียงแต่งเป็นร้อยกรองมีสัมผัสคล้องจอง ท่องจำง่าย สามารถพรรณนาความไพเราะจับใจ หากเทียบกับการแปลเป็นความเรียงร้อยแก้วทั่วไป หากได้อ่านออกเสียงเป็นทำนองเสนาะหรือสวดด้วยทำนอง สรภัญญะ จะยิ่งเพิ่มความไพเราะของถ้อยคำและความหมายที่จรรโลงจิตใจให้ข้อคิดคติธรรมเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำนมัสการมาตาปิติคุณและอาจาริยคุณ ซึ่งเป็นบทสวดเคารพบิดามารดาและครูอาจารย์ เป็นภาษาบาลที่นิยมใช้กันมาแต่เดิม ปัจจุบันมีการเรียบเรียงขึ้นเป็นบทฉันท์ในภาษาไทยใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ เช่น วันไหว้ครู เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อระลึกถึงบุญคุณของบิดามารดาและครูอาจารย์เป็นผู้ควรแก่การเคารพบูชา ผู้ที่เคารพบูชาบิดามารดาและครูอาจารย์จะถือว่ามีมงคลอย่างสูงสุด
๒. ประวัติผู้แต่ง
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารกูร) เป็นนักปราชญ์คนสำคัญของไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รอบรู้ในวิชาภาษาไทยและได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเป็นครูที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม อุทิศชีวิตเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติอีกด้วย งานนิพนธ์ ที่สำคัญ ของท่าน เช่น ฉันทวิภาค ซึ่งเป็นตำราเรียนยุคแรกของสยาม
ประวัติ
พระยาศรีสุนทรโวหาร น้อย อาจารยางกูร เกิดเมื่อวันที่5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 ตรงกับปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรม ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2434 สิริอายุได้ 69 ปี ได้รับพระราชทานโกศโถเป็นเกียรติยศ
การศึกษา
เมื่ออายุได้ประมาณ 5-7 ปี เรียนหนังสือไทยกับหลวงบรรเทาทุกข์ราษฎร์ กรมการเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพี่ชายใหญ่ของท่าน ในขณะที่หลวงบรรเทาทุกข์ราษฎร อุปสมบทเป็นภิกษุอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร เมื่ออายุ 15 ปี ท่านได้เข้าไปศึกษาต่อในพระนคร อยู่กับสามเณรน้าชาย ชื่อทัด ณ วัดสระเกศวรวิหาร อายุ 14 ปี บรรพชาเป็นสามเณรเรียนหนังสือไทยกับพระกรรมวาจาจารย์ (จัน) เรียนหนังสือขอมกับพระครุวิหารกิจจานุการ (กรรมวาจาจีน) ศึกษาพระธรรมวินัยจากสำนักต่าง ๆ เช่น
- เรียนคัมภีร์สารสงเคราะห์ สำนักสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- เรียนคัมภีร์มังคลัตถทีปนีในสำนักพระอุปทยาจารย์ (ศุข)
- เรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน)
- เรียนคัมภีร์กังขาวิตรณี ในสำนักอาจารย์เกิด
- เรียนคัมภีร์มหาวงศ์ในสำนักพระครูด้วง
- เรียนคัมภีร์อื่น ๆ ในสำนักพระครูปาน พระใบฎีกาแก้ว พระอาจารย์คง อาจารย์ที่เป็นคฤหัสถ์ด้วย
ท่านได้บวชเป็นสามเณร 8 ปี เมื่ออายุ 21 ปี ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศวรวิหาร ท่านแตกฉานทั้งภาษาไทย ภาษาขอม ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต รู้การแต่งคำประพันธ์ฉันทลักษณ์เป็นอย่างดี เมื่ออายุ 24 ปี ได้เข้าแปลปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ณ วัดราชบุรณราชวรวิหารได้เป็นเปรียญ 5 ประโยค
ด้วยระยะเวลานั้น วัดสระเกศวรวิหารขาดพระมหาเปรียญเป็นเวลานับสิบปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโสมนัสยินดี ทรงเฉลิมพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหม่ รื้อกุฏิเก่าฝาไม้ไผ่ออกสร้างกุฏิตึกเป็นเสนาสนะงดงาม ตลอดทั้งก่อสร้างสถาปนาภูเขาทองด้วยนับเป็นเกียรติยศอย่างสูง ด้วยความอุตสาหะพากเพียรใฝ่รู้ของท่าน จึงได้ขอศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพรรษาที่ 6 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระราชาคณะที่ “พระประสิทธิสุตคุณ”
การทำงาน
พ.ศ. 2396 ท่านลาสิกขาบท เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ดำรงค์ (หรือเจ้าหมื่นสรรพเพชรภักดีในขณะนั้น) ได้นำท่านเข้าถวายตัวรับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็กเวรศักดิ์ รัชกาลที่ 4 ทรงใช้สอยในเรื่องหนังสือไทย หนังสือขอมคล่องแคล่ว ตามที่พระองค์ต้องการ ไม่ว่าจะติดขัดในประการใดก็ช่วยเหลือพระองค์ได้เสมอ ท่านรับราชการ 1 ปี ก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่ “ขุนประสิทธิ์อักษรศาสตร์” ทำงานเป็นผู้ช่วยของเจ้ากรมพระยารักษ์ ว่าที่เจ้ากรมอักษรพิมพการ ครั้นถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ขุนสารประเสริฐ” ปลัดทูลฉลอง กรมพระอาลักษณ์ และเมื่อเจ้านครเชียงใหม่นำช้างเผือกมาถวาย ท่านจึงได้แต่งฉันท์กล่อมช้าง
พ.ศ. 2414 ท่านได้คิดแบบสอนอ่านหนังสือไทย รวม 6 เล่ม ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน พิศาลการันต์ ไวพจน์พิจารณ์ (ไวพจน์พิจารณ์แต่งในปี พ.ศ. 2425) ซึ่งเป็นที่ถูกพระราชหฤทัยของพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก ท่านจึงได้เลื่อนยศขึ้นเป็น “พระสารประเสริฐ” ปลัดทูลฉลอง กรมพระอาลักษณ์
พ.ศ. 2415 ท่านได้เป็นครูสอนหนังสือไทย ในกรมมหาดเล็ก
พ.ศ. 2416 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นอาจารย์สอนพระราชวงศ์ที่ยังพระเยาว์ และบุตรหลานข้าราชการได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ 60 บาท ภายหลังได้คิดแบบเรียนอีกหลายเล่ม เช่น อนันตวิภาค เขมรากษรมาลา (หนังสือขอม) นิติสารสาธก ปกรนำพจนาตถ์ โคลงฉันท์หลายเรื่อง
พ.ศ. 2418 ในปีนั้นพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระสารประเสริฐขึ้นเป็น “พระศรีสุนทรโวหาร” เจ้ากรมอาลักษณ์ ถือศักดินา 3,000 ไร่[1]
พ.ศ. 2422 เมื่อมีการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามท่านได้มีส่วนในการแต่งโคลงรามเกียรติ์เพื่อจารึกที่ระเบียงรอบพระอุโบสถ และเป็นท่านยังเป็นแม่กองตรวจโคลงรามเกียรติ์ที่ข้าราชการแต่งทูลเกล้าฯ ถวายอีกด้วย ผลงานและความชอบในครั้งนั้นได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น"พระยาศรีสุนทรโวหาร ญานปรีชามาตย์บรมนาคนิตยภักดีพิริยะ พาหะ" ถือศักดินา 3,000 ไร่ และได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 4 ชั่ง
พ.ศ. 2425 ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้เป็นองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และทำหน้าที่เป็นเลขานุการสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และองคมนตรีสภาอีกด้วย และให้มีการปฏิรูปการศึกษา โดยตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรก ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2414 โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรเกล้าฯ ให้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
พ.ศ. 2432 ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า และได้รับพระราชทานพานหมากคนโททอง กระโถนทอง เป็นเครื่องยศ
ผลงาน
· มูลบทบรรพกิจ
· วาหนิติ์นิกร
· อักษรประโยค
· สังโยคภิธาน
· ไวพจน์พิจารณ์
· พิศาลการันต์
· อนันตวิภาค
· เขมรากษรมาลา (เป็นแบบหนังสือขอม)
· นิติสารสาธก
· ปกีรณำพจนาตถ์ (คำกลอน)
· ไวพจน์ประพันธ์
· อุไภยพจน์
· สังโยคภิธานแปล
· วิธีสอนหนังสือไทย
· มหาสุปัสสีชาดก
· วรรณพฤติคำฉันท์
· ฉันท์กล่อมช้าง
· ฉันทวิภาค
· ร่ายนำโคลงภาพพระราชพงศาวดาร
· โคลงภาพพระราชพงศาวดาร รูปที่ ๖๕ และ ๘๕
· คำนมัสการคุณานุคุณ
· สยามสาธก วรรณสาทิศ
· พรรณพฤกษา
· พหุบาทสัตวาภิธาน
· ฯลฯ
๓. ลักษณะคำประพันธ์
คำนมัสการคุณานุคุณแต่ละตอนแต่งด้วยคำประพันธ์รประเภทต่างๆ ดังนี้
๓.๑ อินทรวิเชียรฉันท์๑๑
อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ เป็นฉันท์ที่นำมาแต่งคำนมัสการคุณานุคุณ มาตาปิตุคุณ และอาจริยคุณ มีลักษณะบังคับ ดังแผนผังต่อไปนี้
คำประพันธ์อินทรวิเชียรฉันท์นี้ นับว่าง่ายกว่าฉันท์อื่น ๆ ด้วยเหมือนกับว่า นำเอากาพย์ยานี ๑๑ มาเพิ่ม ครุ ลหุ เท่านั้น
บาทที่ ๑ ครุ ครุ ลหุ ครุ ครุ ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ครุ
บาทที่ ๒ เหมือนกัน กับบาทที่ ๑
ส่ง-รับสัมผัสเช่นเดียวกับกาพย์ยานี ๑๑ ทุกประการ
๓.๒ กาพย์ฉบัง ๑๖
กาพย์ฉบัง ๑๖ เป็นกาพย์ที่นำมาแต่งคำนมัสการพระธรรมคุณและพระสังฆคุณมีลักษณะบังคับ ดังแผนผังต่อไปนี้
ข้อสังเกต
กาพย์ฉบังไม่เคร่งสัมผัสใน จะมีหรือไม่มีก็ได้ ขอเพียงใช้คำที่อ่านแล้วราบรื่น ตามช่วงจังหวะของแต่ละวรรคนั้น ๆ เท่านั้น ส่วนสัมผัสนอก ระหว่างวรรคที่สอง (วรรครับ) กับวรรคที่สาม (วรรคส่ง) นั้น จะมีหรือไม่มี ก็ได้ไม่บังคับเช่นกัน
๔.เนื้อเรื่อง
คำนมัสการพระพุทธคุณ
องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธะสันดาน
ตัดมูลกิเลสมาร บ่มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว
ราคีบ่พันพัว สุวคนธะกำจร
องค์ใดประกอบด้วย พระกรุณาดังสาคร
โปรดหมู่ประชากร มละโอฆะกันดาร
ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานต์
ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย
พร้อมเบญจพิธจัก- ษุจรัสวิมลใส
เห็นเหตุที่ใกล้ไกล ก็เจนจบประจักษ์จริง
กำจัดน้ำใจหยาบ สันดานบาปแห่งชายหญิง
สัตว์โลกได้พึ่งพิง มละบาปบำเพ็ญบุญ
ลูกขอประณตน้อม ศิรเกล้าบังคมคุณ
สัมพุทธการุญ- ยภาพนั้นนิรันดร ฯ
ความเป็นมา
แต่งขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า มีที่มามาจาก บทสวดพระพุทธคุณ ภาษาบาลี
ลักษณะคำประพันธ์
อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
ถอดความคำประพันธ์
นมัสการ พระพุทธคุณ กล่าวสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงค้นพบหลักธรรมในการประพฤติ ปฏิบัติและในการดําเนินชีวิตเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข ละเว้นความชั่ว ปราศจากกิเลศทั้งปวง และชี้ทางแห่งความสุข คือ นิพพาน ที่จะทำให้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
การนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
การกราบไหว้บูชาพระพุทธ เป็นสิ่งอันสมควรอย่างยิ่ง
คำนมัสการพระธรรมคุณ
กาพย์ฉบัง ๑๖
ธรรมะคือคุณากร ส่วนชอบสาธร
ดุจดวงประทีปชัชวาล
แห่งองค์พระศาสดาจารย์ ส่องสัตว์สันดาน
สว่างกระจ่างใจมล
ธรรมใดนับโดยมรรคผล เป็นแปดพึงยล
และเก้านับทั้งนฤพาน
สมญาโลกอุดรพิสดาร อันลึกโอฬาร
พิสุทธิ์พิเศษสุกใส
อีกธรรมต้นทางครรไล นามขนานขานไข
ปฏิบัติปริยัติเป็นสอง
คือทางดำเนินดุจครอง ให้ล่วงลุปอง
ยังโลกอุดรโดยตรง
ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์ นบธรรมจำนง
ด้วยจิตและกายวาจาฯ
ความเป็นมา
แต่งขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณของพระธรรม มีที่มามาจาก บทสวดนมัสการพระธรรม ภาษาบาลี
ลักษณะคำประพันธ์
กาพย์ฉบัง ๑๖
ถอดความคำประพันธ์
นมัสการพระธรรมคุณ กล่าวสรรเสริญธรรมะ ธรรมะคือที่เกิดแห่งความดี ซึ่งเป็นคําสอนของพระพุทธเจ้าที่เปรียบเหมือนแสงสว่างในใจที่จะนำทางให้มนุษย์หลุดพ้นจากทุกข์ไปสู่ความสุข คือ นิพพาน
การนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
การกราบไหว้ บูชาพระธรรม และปฏิบัติตามพระธรรม เป็นสิ่งอันสมควรอย่างยิ่ง
คำนมัสการพระสังฆคุณ
สงฆ์ใดสาวกศาสดา รับปฏิบัติมา
แต่องค์สมเด็จภควันต์
เห็นแจ้งจตุสัจเสร็จบรร- ลุทางที่อัน
ระงับและดับทุกข์ภัย
โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตร ปัญญาผ่องใส
สะอาดและปราศมัวหมอง
เหินห่างทางข้าศึกปอง บ่ มิลำพอง
ด้วยกายและวาจาใจ
เป็นเนื้อนาบุญอันไพ- ศาลแด่โลกัย
และเกิดพิบูลย์พูนผล
สมญาเอารสทศพล มีคุณอนนต์
อเนกจะนับเหลือตรา
ข้าฯ ขอนบหมู่พระศรา- พกทรงคุณา-
นุคุณประดุจรำพัน
ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์ พระไตรรัตน์อัน
อุดมดิเรกนิรัติศัย
จงช่วยขจัดโพยภัย อันตรายใดใด
จงดับและกลับเสื่อมสูญฯ
ถอดคำประพันธ์
พระสงฆ์สาวกผู้นำเเนวทางคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ซึ่งเห็นทางบรรลุที่เเท้จริงเเละระงับทุกข์ภายในใจได้หมดสิ้น โดยนำคำสอนพระศาสดามาชำระจิตใจให้ปราศจากกิเลสทั้งปวง ความชั่วทั้งหลายมิอาจจะทำลายความบริสุทธิ์ของกาย วาจา ใจ ของพระสงฆ์ได้ เป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นผู้ก่อประโยชน์นานับประการของโลก ข้าพเจ้าขอเคารพบูชาพระสงฆ์เเละคุณของพระรัตนไตรทั้งปวงให้ขจัดเภทภัยอันตรายต่างๆให้ห่างหายจากตน
คำนมัสการอาจริยคุณ
อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
อนึ่งข้าคำนับน้อม ต่อพระครูผู้การุญ
โอบเอื้อและเจือจุน อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอัตถ์ให้ชัดเจน
จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม
ขจัดเขลาบรรเทาโม- หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ
คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม
ถอดคำประพันธ์
ขอ ความเคารพนอบน้อมต่อครู ผู้มีความกรุณา เผื่อแผ่อบรมสั่งสอนศิษย์ทุกสิ่ง ให้มีความรู้ ทั้งความดี ความชั่ว ชั่วขยายความให้เข้าใจแจ่มแจ้ง มีเมตตากรุณา กรุณาเที่ยงตรง เคี่ยวเข็ญให้ฉลาดหลักแหลม ช่วยกำจัดความโง่เขลา ให้มีความเข้าใจแจ่มชัด พระคุณดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นเลิศในสามโลกนี้ ควรระลึกและน้อมใจชื่นชมยกย่อง
คำนมัสการมาตาปิตุคุณ
ข้าขานบชนกคุณ ชนนีเป็นเค้ามูล
ผู้กอบนุกูลพูน ผดุงจวบเจริญวัย
ฟูมฟักทะนุถนอม บบำราศนิราไกล
แสนยากเท่าไรๆ บคิดยากลำบากกาย
ตรากทนระคนทุกข์ ถนอมเลี้ยงฤรู้วาย
ปกป้องซึ่งอันตราย จนได้รอดเป็นกายา
เปรียบหนักชนกคุณ ชนนีคือภูผา
ใหญ่พื้นพสุนธรา ก็ บ เทียบบเทียมทัน
เหลือที่จะแทนทด จะสนองคุณานันต์
แท้บูชไนยอัน อุดมเลิศประเสริฐคุณ
ถอดคำประพันธ์
อันคุณของบิดามารดานั้นยิ่งใหญ่นัก ตั้งแต่เราได้ถือกำเนิดเกิดมาบนโลกใบนี้ บุคคลแรกที่เราจำความได้สองท่านนี้ ก็คอยฟูมฟัก ทะนุถนอมเลี้ยงดูเราจนเติบใหญ่ แม้บางครั้งจะมีอุปสรรคที่ร้ายแรงเพียงใดท่านก็ไม่เคยหวาดหวั่น ต่อสู้ และฝ่าฟันเพื่อบุตรทุกประการ หากจะเปรียบคุณของบิดามารดานั้นดูยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะยกภูเขาทั้งลูก แผ่นดินทั้งแผ่นมาเทียมได้ มากมายมหาศาลเหลือเกิน แม้การที่เราจะทดแทนบุญคุณทั้งหมดคงจะเป็นไปไม่ได้ แต่เพียงแค่เรากระทำตนเป็นคนดีของสังคม กตัญญูรู้คุณต่อท่านเท่านี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว
๕.คำศัพท์
เกลศ กิเลสเครื่องทําใจให้เศร้าหมอง
เกษมสานต์ ชื่นชมยินดี
เบญจพิธจักษุ ปัญญาทั้งห้า เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า
วิโยค การจากไป การพลัดพราก
กันดาร ลําบาก อัตคัด
โอฆ ห้วงฟ้า
นฤพาน ความดับกิเลส
มละ ละทิ้ง
ราคี ความมัวหมอง
สุวคนธ กลิ่นหอม
ประณต ไหว้
ธรรมะ คุณความดี
คุณากร ที่เกิดแห่งความดี
ชัชวาล สว่าง รุ่งเรือง
สาทร ดีแล้ว
ประทีป ไฟที่มีเปลวสว่าง
สันดาน อุปนิสัยที่ติดตัวมาแต่กําเนิด
กระจ่าง สว่าง ชัด
มรรค ทาง เหตุ
สมญา ชื่อ
พิสดาร กว้างขวาง ละเอียดลออ
พิสุทธิ์ บริสุทธิ์
ครรไล ไป
ปริยัติ การเล่าเรียนพระไตรปิฎก
โลกอุดร เหนือโลก
อุตมงค์ ศีรษะ
๖. บทวิเคราะห์
๖.๑ คุณค่าด้านเนื้อหา
๑) คำนมัสการพระพุทธคุณ มีเนื้อหาสำคัญคือ การสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยกวีได้กล่าวยกย่องพระพุทธเจ้าไว้ว่า ทรงพระพุทธเจ้าไว้ว่า ทรงพระคุณอันประเสริฐ 3 ประการ คือ
๑.๑) พระวิสุทธิคุณ คือ พระพุทธเจ้าทรงปราศจากกิเลส และไม่เกี่ยวข้องกับความมัวหมองหรือราคีใด ๆ
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว
ราคีบพันพัว สุวคนธกำจร
๑.๒) พระกรุณาธิคุณ คือ พระพุทธเจ้าทรงมีพระกรุณามากมาย เหมือนกับน้ำในมหาสมุทร ทรงช่วยเหลือมนุษย์ให้หลุดพ้นจากกิเลสด้วยการแนะแนวในการดับทุกข์ เพื่อมุ่งไปสู่ความสุขอันแท้จริง คือ พระนิพพาน
องค์ใดประกอบด้วย พระกรุณาดังสาคร
โปรดหมู่ประชากร มละโอฆกันดาร
ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานต์
ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย
๑.๓)พระปัญญาธิคุณ คือ พระพุทธเจ้าทรงมีพระปรีชาญาณอันลึกซึ้ง ทรงคิดค้นและทำความเข้าใจในทุกสิ่งที่ได้ทรงพบเสมอ
เห็นเหตุที่ใกล้ไกล ก็เจนจบประจักษ์จริง
พระพุทธเจ้าจึงทรงเป็นผู้มีพระคุณแก่เราอย่างสูงสุด เนื่องจากพระองค์ทรงแสวงหาหนทางหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงให้แก่มนุษย์ ทรงสั่งสอนให้มนุษย์กระทำแต่ความดี ละเว้นความชั่ว และประทานหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้มนุษย์ประพฤติตนในทางที่ควร ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข
๒.)คำนมัสการพระธรรมคุณ พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มีพระกรุณาแสดงพระธรรมเทศนาสั่งสอนสรรพสัตว์ เพื่อช่วยยกระดับจิตใจให้งดงามและทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข กวีจึงกล่าวสรรเสริญพระธรรมคุณว่าเป็นบ่อเกิดแห่งความดี (คุณากร) ที่ช่วยส่องทางสว่างให้แก่จิตใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ธรรมะคือคุณากร ส่วนชอบสาธร
ดุจดวงประทีปชัชวาล
แห่งองค์พระศาสดาจารย์ ส่องสัตว์สันดาน
สว่างกระจ่างใจมนท์ ฯ
ดังนั้นพระธรรมจึงมีพระคุณต่อพุทธศาสนิกชน เนื่องจากการปฏิบัติตามหลักธรรมจะก่อให้เกิดประโยชน์และความสุขแก่ทั้งตนเองและสังคม
๓.) คำนมัสการพระสังฆคุณ ถ้าพระพุทธองค์ไม่ได้สถาปนาคณะสงฆ์ขึ้น หลักธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบจะสูญสิ้นไปพร้อมกับการปรินิพพาน พระสงฆ์จึงมีบทบาทสำคัญและมีพระคุณโดยเฉพาะแก่พุทธศาสนิกชน เพราะหากไม่มีพระสงฆ์ก็ไม่มีผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ดังที่กวีกล่าวสรรเสริญไว้ว่า
สงฆ์ใดสาวกศาสดา รับปฏิบัติมา
แต่องค์สมเด็จภควันต์
สมญาเอารสทศพล มีคุณอนนต์
อเนกจะนับเหลือตรา
๔.)คำนมัสการมาตาปิตุคุณ บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณแก่เราโดยตรง เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเราโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ตั้งแต่เราเกิดมาท่านก็ให้ความรักความเมตตาเอาใจใส่ดูแลห่วงใยโดยบริสุทธิ์ใจ คอยแนะนำตักเตือนชี้ทางที่ดีให้แก่เรา เมื่อเราทุกข์หรือเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านก็ทุกข์ด้วย แม้จะต้องทำงานด้วยความเหนื่อยยากก็ยอมสู้ทน
๖.๒ คุณค่าด้านกลวิธีการแต่ง
เนื่องด้วยความมุ่งหมายประการสำคัญ ของพระยาศรีสุนทรโวหารในการประพันธ์คำนมัสการคุณานุคุณ คือ การพรรณนานาคุณงามความดีที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา และครูอาจารย์มีต่อชนทุกชั้น ดังนั้น ถ้อยคำที่กวีนำมาใช้จึงต้องแฝงความหมายที่ดีงาม และสามารถท่องจำได้โดยง่าย เพื่อให้เยาวชนไทยได้ยึดถือเป็นแบบอย่างและซาบซึ้งไปกับเนื้อความ ซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องในทางพระพุทธศาสนาซึ่งมีเนื้อหาที่ละเอียดลึก ซึ้ง แต่กวีก็สามารถพรรณนาถ้อยความและเลือกสรรถ้อยคำได้อย่างไพเราะจับใจ และมีความดีเด่นในด้านกลวิธีการแต่ง ดังนี้
๑) การเลือกสรรคำเหมาะกับเนื้อเรื่อง กวีเลือกสรรถ้อยคำนำมาใช้ได้อย่างไพเราะเหมาะสม โดยเฉพาะใน
บทนมัสการมาตาปิตุคณ และนมัสการอาจริยคุณ ซึ่งเป็นการพรรณนาพระคุณของบิดามาดา และครูอาจารย์ เป็นการใช้คำง่ายแต่มีความหมายลึกซึ้ง เช่น ในบทนมัสการมาตาปิตุคุณที่ว่า
ฟูมฟักทะนุถนอม บ บำราศนิราไกล
แสนยากเท่าไรๆ บ คิดยากลำบากกาย
ตรากทนระคนทุกข์ ถนอมเลี้ยง ฤ รู้วาย
ปกป้องซึ่งอันตราย จนได้รอดเป็นกายา
กวีใช้คำว่า ฟูมฟัก ทะนุถนอม ตรากทน และถนอมเลี้ยง ซึ่งเป็นคำที่ไพเราะอ่านเข้าใจและรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของบิดามารดาซึ่งคอยประคับประคอง ระวังรักษา และเฝ้าทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงดูลูกด้วยความอดทนโดยไม่ได้คิดถึงความยากลำบากตั้งแต่ลูกเล็กจนเติบใหญ่
ในบทนมัสการอาจริยคุณที่ว่า
อนึ่งข้าคำนับน้อม ต่อพระครูผู้การุญ
โอบเอื้อและเจือจุน อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอัตถ์ให้ชัดเจน
คำว่า การุญ โอบเอื้อ เจือจุน อนุสาสน์และ ขยายอัตถ์ ที่กวีสรรมาใช้ได้อย่างไพเราะ เพื่อแสดงถึงความรัก และความเมตตาของครูอาจารย์ ที่เพียรพยายามสั่งสอนศิษย์ให้เป็นคนดีนั้น ก่อให้เกิดความสำนึกและตระหนักถึงพระคุณของครูอาจารย์ได้เป็นอย่างดี
๒) การเลือกสรรคำที่มีเสียงเสนาะ กวีใช้คำให้เกิดความงามและเสียงเสนาะในการอ่านออกเสียงโดยการใช้สัมผัสอักษรและสัมผัสสระ เป็นการเพิ่มคุณค่าและความไพเราะให้บทกวี ดังนี้
๒.๑ สัมผัส เนื่องจากการแต่งคำนมัสการคุณานุคุณ มีข้อจำกัดในเรื่องฉันทลักษณ์ กวีจึงต้องคิดสรรคำที่มีความหมาย ได้ใจความ และถูกต้องตรงตามเนื้อหาและลักษณะบังคับของคำประพันธ์ที่นำมาใช้ ซึ่งได้แก่ กาพย์ฉบัง๑๖ และโดยเฉพาะอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ เพราะนอกจากจะมีกฎเกณฑ์ในเรื่องจำนวนคำและสัมผัสแล้ว ยังต้องคำนึงถึงเรื่องเสียงหนัก-เบาของคำหรือครุ-ลหุอีกด้วย จึงจะสามารถสร้างสรรค์บทกวีให้มีความไฟเราะและสละสลวยได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องดังกล่าวข้างต้น แต่พระยาศรีสุนทรโวหารก็สามารถเลือกสรรคำแล้วนำมาเรียบเรียงแต่งได้อย่างเหมาะสมกับเนื้อหาและข้อบังคับทางฉันทลักษณ์ และยังเพิ่มระดับความไฟเราะ โดยอาศัยกลวิธีทางการประพันธ์ ซึ่งได้แก่ การเล่นสัมผัสใน โดยเฉพาะสัมผัสอักษร เช่น
คำนมัสการพระพุทธคุณ
“สุวิสุทธสันดาน” เล่นเสียงสัมผัสอักษร “ส”คือ สุ-(วิ) สุทธ-สัน(ดาน)
“บมิหม่นมิหมองมัว” เล่นเสียงสัมผัสอักษร “ม” คือ มิ- หม่น-มิ-หมอง-มัว
“ก็เจนจบประจักษ์จริง” เล่นเสียงสัมผัสอักษร “จ” คือ เจน-จบ-(ประ) จักษ์-จริง
คำนมัสการพระธรรมคุณ
“ส่องสัตว์สันดาน” เล่นเสียงสัมผัสอักษร “ส” คือ ส่อง-สัตว์-สัน-ดาน
“พิสุทธิ์พิเศษสุกใส” เล่นเสียงสัมผัสอักษร “ส” คือ (พิ) สุทธิ์-(พิ) เศษ-สุก-ใส
“ข้อขอโอนอ่อนอุตมงค์” เล่นเสียงสัมผัสอักษร “ข” คือ ข้า-ขอ
เล่นเสียงสัมผัสอักร “อ” คือ โอน-อ่อน-อุต (มงค์)
คำนมัสการพระสังฆคุณ
“สงฆ์ใดสาวกศาสดา” เล่นเสียงสัมผัสอักษร “ส” คือ สงฆ์-สา (วก) –ศาส-สะ (ดา
คำนมัสการอาจริยคุณ
“อนสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์” เล่นเสียงสัมผัสอักษร “ส” คือ (อนุ) สาสน์- สิ่ง-สรรพ์ เป็นต้น
๒.๒ การเล่นคำ การเล่นคำในคำนมัสการคุณานุคุณ โดยเฉพาะการเล่นคำซ้ำ เป็นวิธีการอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เนื้อความที่มีการซ้ำคำมีความหมายที่เด่นชัด ได้รับการเน้นย้ำและแสดงให้เห็นถึงความสำคัญยิ่งมากขึ้น เช่น
คำนมัสการพระพุทธคุณ มีการซ้ำคำว่า “องค์ใด” อันเป็นการเน้นหรือ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลสำคัญและทรงมีพระจริยวัตรที่ดีเด่นเป็นอย่างมาก เช่น
“องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาล”
“องค์ใดประกอบด้วย พระกรุณาดังสาคร”
นอกจากนี้ พระยาศรีสุนทรโวหาร ยังซ้ำคำว่า “ชี้” เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นบรมครูผู้ชี้แนะแนวทางอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมนุษยชาติ คือ แนวทางอันเป็นการละเลิกกิเลศเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ และมุ่งไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง และถาวร คือ พระนิพาน
ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานต์
ชี้ทางพระนฤพาน อันพันโศกวิโยคภัย
คำนมัสการพระพุทธคุณ
ข้าขอประณตน้อม ศิรเกล้าบังคมคุณ
สัมพุทธการุญ- ญภาพนั้นนิรันดร
คำนมัสการพระธรรมคุณ
ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์ นบธรรมจำนง
ด้วยจิตและกายวาจา
คำนมัสการพระสังฆคุณ
ข้าขอนบหมู่พระศรา- พกทรกคุณา
นุคุณประดุจรำพัน
ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์ พระไตรรัตน์อัน
อุดมดิเรกนิรัติศัย
อย่างไรก็ตาม ยังมีการเล่นคำอีกอย่างหนึ่งซึ่งสื่อให้เห็นถึงความหมายอันลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ในคำ และแสดงให้เห็นว่ากวียังมีความรู้ความสามารถ ในด้านภาษาและการประพันธ์เป็นอย่างมาก เช่น คำว่า “เอารสทศพล”
สงฆ์ใดสาวกศาสดา รับปฏิบัติมา
แต่องค์สมเด็จภควันต์
...
สมญาเอารสทศพล มีคุณอนันต์
อเนกจะนับเหลือตรา
คำว่า เอารสทศพล แปลว่า บุตรของพระพุทธเจ้า ซึ่งหมายถึง พระสงฆ์มีที่มา จากคำว่า เอารสหรือโอรส ซึ่ง
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ประทานกำเนิดพระสงฆ์ด้วยการอนุญาตให้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์อันเป็นการตัดชีวิตออกจากโลกแห่งกิเลศซึ่งเป็นโลกของปุถุชน เข้าสู่โลกแห่งพระธรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเกิดใหม่ พระสงฆ์จึงได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า
๓) ภาพพจน์ กวีใช้การเปรียบเทียบแบบอุปลักษณ์เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่นการเปรียบพระคุณของบิดามารดาว่ายิ่งใหญ่กว่าภูเขาและแผ่นดิน ดังความว่า
เปรียบหนักชนกคุณ ชนนีคือภูผา
ใหญ่พื้นพสุนธรา ก็ บ เทียบ บ เทียมกัน
ความรู้เพิ่มเติม
แล้วในหมวดต้น ๆ มาชี้แจงเพื่อความรู้ และเพื่อเป็นทางปฏิบัติ แต่จะกล่าวเฉพาะเรื่องที่มิได้ชี้แจงไว้ข้างต้นเพียง ๕ เรื่องเท่านั้น คือ
๑. วิธีแสดงความเคารพพระ
๒. วิธีประเคนของพระ
๓. วิธีทำหนังสืออาราธนา และทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัย
๔. วิธีอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร อาราธนาธรรม
๕. วิธีกรวดน้ำ
พิธีไหว้ครู
พิธีไหว้ครู เป็นพิธีกรรมที่เป็นประเพณีของไทยที่นิยมปฏิบัติมาแต่สมัยโบราณ แสดงถึงความระลึกถึงบุญคุณของครู การไหว้ครูเป็นการแสดงตนว่าขอเป็นศิษย์ของท่านโดยตรง
การไหว้ครูมีใช้ในหลายกิจกรรมเช่น การไหว้ครูในโรงเรียน พิธีกรรมของโรงเรียนในวันครู การไหว้ครูมวย เป็นการไหว้ครูด้วยลีลาของศิลปะมวยไทย เช่นเดียวกับกระบี่กระบอง การไหว้ครู ก่อนการแสดงศิลปะดนตรี เช่น หนังตะลุง และการไหว้ครูในงานประพันธ์ เรียกว่า บทไหว้ครู หรือ อาเศียรวาท (อาเศียรพาท ก็ว่า) เป็นการกล่าวระลึกถึงบุญคุณครู และขอความเป็นมงคล
ดอกไม้ที่ใช้ในการไหว้ครู
ในพิธีไหว้ครูนับตั้งแต่สมัยก่อน จะใช้ดอกไม้หลัก 3 อย่างในการทำพาน ซึ่งดอกไม้ ความหมายในการระลึกคุณครู ได้แก่
1. หญ้าแพรก สื่อถึง ขอให้เรียนได้เร็วเหมือนหญ้าแพรก ที่โตได้เร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน คำสั่งสอนของครูบาอาจารย์
2. ดอกเข็ม สื่อถึง ขอให้มีสติปัญญาเฉียบแหลม เหมือนชื่อของดอกเข็ม ซึ่งเป็นปริศนาธรรมว่า ครูต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังความคิด ให้นักเรียนนักศึกษาเป็นคนฉลาด(หัวแหลม) รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์
3. ดอกมะเขือ สื่อถึง การเปรียบเทียบว่า มะเขือนั้น จะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก แสดงถึง นักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้นต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง
4. ข้าวตอก เนื่องจากข้าวตอกเกิดจากข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อนๆ ให้ร้อนเสมอกันจนถึงจุดหนึ่งที่เนื้อข้างในขยายออก จนดันเปลือกให้แยกออกจากกัน ได้ข้าวสีขาวที่ขยายเม็ดออกบาน ซึ่งสามารถนำไปประกอบพิธีกรรม หรือทำขนมต่างๆได้ ดังนั้น ข้าวตอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านของตัวเองได้ ก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก
สถานที่
1. โต๊ะหมู่บูชา โดยตั้งไว้ที่สูงบนเวทีชิดด้านหลัง ข้างหน้ามีกระถางดอกไม้และธูปเทียน และ โต๊ะ เพื่อวางพานดอกไม้และธูปเทียนที่นำมาบูชา
2. หนังสือ เพื่อให้ประธานเจิม โดยเอาหนังสือวางไว้บนพาน บนโต๊ะเล็กหน้าที่บูชา
3. ที่นั่งประธาน และ คณาจารย์ จัดไว้ข้าง ๆ ที่บูชา
พิธีการ
1. เมื่อประธานมาถึง ให้กราบทำความเคารพ จนกว่าคุณครูทุกท่านจะผ่านไปหมดทุกคน
2. ให้ประธานจุดธูปเทียน นมัสการพระพุทธรูปที่แท่นหมู่บูชา
3. เริ่มพิธีโดยการสวดมนต์ ตามด้วยเจิมหนังสือเพื่อความเป็นสิริมงคล
4. หลังจากนั้นกล่าวคาถาไหว้ครู และวรรคแรกของคำไหว้ครู
5. เมื่อกล่าวคำไหว้ครูเสร็จแล้ว ให้ว่าคาถาไหว้ครูตอนท้าย
6. ตัวแทนนักเรียนกล่าวคำปฏิญาณตน
7. ให้ตัวแทนของแต่ละห้องนำพานไปให้คุณครูแต่ละท่าน
บรรณานุกรม
หนังสือภาษาไทยวรรณคดีและวรรณกรรม ม.๔
http://www.thaigoodview.com/node/68042
https://sites.google.com/a/htp.ac.th/reuxng-kar-xan-wrrnkhdi/4-hlak-kar-wi-cak-s-wrrnkhdi
https://sites.google.com/a/htp.ac.th/reuxng-kar-xan-wrrnkhdi/3-khwam-hmay-khxng-kar-wi-cak-s
https://sites.google.com/site/phasathiym4/raywicha-phasa-thiy-chan-mathymsuksa-pi-thi4/bth-thi1-kha-nmaskar-khuna-nu-khun
https://arawan501.wordpress.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น